กันยายน 13, 2557 รับลิงก์ Facebook X Pinterest อีเมล แอปอื่นๆ ทุ่งนาบ้านฉัน ฟ้าสวยใส งดงาม เรียบง่าย และอบอุ่น... ว่าที่ ร.ต.บัวพิตย์ พิทยาทรานุวัฒ ผู้จัดการมูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อชุมชน(ม.พศช.) เล่าให้ฟังว่า พันธุ์ข้าวเริ่มสูญหายไปตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๕ เมื่อราวร้อยกว่าปีมาแล้ว ช่วงนั้นประเทศไทยเราก็ส่งออกข้าวจำนวนมาก แต่เนื่องจากข้าวบ้านเรามีหลากหลายพันธุ์ ส่งขายปนๆ กันไป เลยไม่ได้ราคา ขายได้ถูกกว่าประเทศอื่น ทางรัฐบาลก็เลยจัดการประกวดคัดเลือกพันธุ์ข้าวที่ดีที่สุดขึ้นมา พันธุ์ไหนชนะก็ส่งเสริมให้ปลูกเพื่อการส่งออก ตั้งแต่ช่วงนั้นพันธุ์ข้าวพื้นบ้านก็หายไปเยอะแล้ว ในตอนหลังที่มีการปฏิวัติเขียว ก็ยังมีการผสมพันธุ์ข้าวใหม่ๆ นำมาให้ชาวนาปลูกแทนพันธุ์ข้าวพื้นบ้าน ตรงนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ชาวนาเลิกปลูกข้าวพื้นเมือง หันมาปลูกแต่พันธุ์ส่งเสริมที่ขายได้ราคาดีกว่า ไม่เพียงแต่พันธุ์ข้าวพื้นบ้านที่เคยมีเป็นหมื่นเป็นแสนพันธุ์จะหายไป แต่วิธีคิด วิถีชีวิต และวัฒนธรรมชาวบ้านที่เชื่อมโยงกับการปลูกข้าว หรือการบูชาแม่โพสพก็หายไปด้วย แต่ทุกวันนี้ก็มีชาวนาหลายคนที่ได้เกิดการเรียนรู้ เริ่มกลับมาปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอย่างเดิม แม้จะไม่หลากหลายเท่าเดิม ทำให้พอมีหลงเหลือพันธุ์พื้นบ้านปลูกอยู่บ้างครับ หลายๆ หมู่บ้านที่แม้จะปลูกพันธุ์ส่งเสริมไว้ขาย แต่จะปลูกพันธุ์ข้าวพื้นเมืองของตัวเองไว้กินด้วย ไม่ได้ปลูกขายทั้งหมด และไม่ได้กินพันธุ์ที่ขายด้วย เขาบอกว่าพันธุ์ข้าวพื้นเมืองส่วนใหญ่จะอร่อยกว่า เนื้อแน่น อิ่มนานกว่า บางหมู่บ้านมีเรื่องเล่าถึงการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพันธุ์หนึ่งไว้อย่างน่า สนใจ เขาเล่าถึงหมู่บ้านหนึ่งที่ทุกคนเลิกปลูกข้าวพันธุ์เก่ากันหมดแล้ว แต่แม่บ้านของบ้านหนึ่งเป็นคนที่ชอบกินข้าวชนิดนี้มาก และจะไม่กินข้าวอื่นเลย ด้วยความที่พ่อบ้านต้องการเอาใจแม่บ้านของตนก็เลยปลูกข้าวพันธุ์เก่าไว้แปลง หนึ่ง เพื่อให้แม่บ้านได้กินทำให้ข้าวพันธุ์นี้จึงยังหลงเหลือเชื้อพันธุ์มาจนถึง ปัจจุบัน ก็น่าชื่นชมความซื่อสัตย์ในรสนิยมการกินของแม่บ้าน และน่าขอบคุณความเอาใจใส่ของพ่อบ้านด้วย จึงทำให้ยังรักษาพันธุ์ข้าวอีกพันธุ์หนึ่งไว้ได้ จริงๆ ก็ยังมีอีกหลายหมู่บ้านที่อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้ได้เพราะยังมีคน ที่ติดใจรสชาติของข้าวอยู่ โดยเฉพาะผู้เฒ่าผู้แก่ จะปลูกไว้แต่ข้าวแบบที่ตนเองเคยกินและกินอร่อย ใครจะว่าดีหรือไม่ดีก็ไม่สนใจ น่าอิจฉาคนปลูกข้าวก็ตรงนี้ที่มีโอกาสได้เลือกปลูกและกินข้าวแบบที่ตัวเองชอบ ทำให้นึกอยากปลูกข้าวที่เราชอบไว้กินเองบ้าง มีคนพูดถึงคำของท่านพุทธทาส เมื่อตอนที่มีคนถามท่านว่า “อะไรดีที่สุด?” ท่านตอบว่า “ไม่มีอะไรดีที่สุด มีแต่อะไรดีสำหรับอะไร” เหมือน กับพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่ตั้งแต่มีการคิดประกวดคัดเลือกพันธุ์ข้าวว่า พันธุ์ ไหนดีที่สุดก็เป็นการคิดที่ผิดแล้ว เพราะการมีข้าวที่หลากหลายก็เป็นไปเพื่อประโยชน์ที่แตกต่างกัน เขาพูดกันไปถึงจิตวิญญาณของต้นข้าวว่า ข้าวเป็นหมื่นเป็นแสนชนิดต่างเกิดมาโดยมีจิตวิญญาณ มีภาระหน้าที่ของตนเอง ตัวแทนกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง จังหวัดศรีสะเกษ ท่านหนึ่ง ได้แก่ อ.สมหมาย ธรรมวัติ จากอำเภอวังหิน จังหวัดศรีสะเกษ เป็นนักอนุรักษ์พันธุ์ข้าวตัวยง ที่บ้านปลูกข้าวอยู่ปีละหลายๆ พันธุ์ ท่านตั้งใจว่าจะพยายามรวบรวมข้าวพันธุ์ต่างๆ ปลูกไว้ให้ได้มากที่สุด และจะต้องพูดภาษาข้าวให้ได้ด้วย พูดภาษาข้าวได้ หมายความว่าจะต้องรู้จักและเข้าใจว่าข้าวแต่ละพันธุ์เป็นอย่างไร จะปลูกยังไง จะโตอย่างไร ใช้ประโยชน์อย่างไรให้ได้ผลดีที่สุด ปลูกข้าวไปก็จะต้องเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับข้าวไปด้วย เหมือนกับที่นักวิจัยทำ อ.สมหมาย บอกว่าตนเองเป็นชาวนา สามารถทำเรื่องวิจัยพันธุ์ข้าวได้ดีกว่านักวิจัย เพราะชาวนาน่าจะเป็นผู้ที่รู้จักข้าวดีที่สุด จุดแข็งของชาวนาก็คือการรู้จักต้นข้าว แต่ต้องเป็นชาวนาที่มีจิตวิญญาณของชาวนา สามารถปลูกข้าวให้ได้อะไรมากกว่าผลผลิต สิ่งที่ อ.สมหมาย กำลังทำทุกวันนื้คือพยายามกลับมาเรียนรู้เรื่องข้าวที่หายไปหลายสิบปี และพยายามจะรักษาพันธุ์ข้าวไว้ให้แผ่นดิน แต่ทำแล้วมีเสียงหัวเราะเยาะอยู่รอบตัว ใครๆ ก็บอกว่า ปลูกไว้เยอะๆ แล้วใครจะมาซื้อ นี่ก็เลยเป็นอีกเรื่องที่ต้องมีพูดคุยกัน คือนอกจากชาวนาจะต้องกลับมาเรียนรู้และอนุรักษ์พันธุ์ข้าวแล้ว ก็ต้องให้ผู้บริโภคได้เรียนรู้และเข้าใจเรื่องตรงนี้ด้วย เพราะไม่อย่างนั้นปลูกไปก็ไม่มีใครกินอย่างว่า ฟังใครๆ เขาพูดกันแล้วก็เกิดความรู้สึกใหม่กับข้าวที่เรากินอยู่ทุกวัน ข้าวนี่ก็มีชีวิตของมันที่น่าเรียนรู้ อยากจะลองเลือกสรรข้าวที่เรากินมากขึ้น ไม่อยากกินข้าวที่มาจากความเจ็บปวดของคนปลูกข้าว …ต่อแต่นี้ไปฉันจะกินข้าวพันธุ์พื้นเมืองและถ้ามีโอกาสก็จะปลูกข้าวบนที่ดิน ของตัวเองบ้าง จะทำจริงๆ เลยครับ…คอยดู ติดตามเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับข้าวพันธุ์พื้นเมืองตอนต่อไปได้ที่นี่ : มูลนิธิพัฒนาการศึกษาเพื่อชุมชน(ม.พศช.)